วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



ประวัติความเป็นมาของร่มบ่อสร้าง


หลวงพ่ออินถา
พระผู้สร้างตำนานหมู่บ้านทำร่มบ่อสร้าง


การทำร่มบ่อสร้างเป็นอาชีพหัตถกรรมของชาวบ้านในอำเภอสันกำแพง ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างหนึ่งจนทุกวันนี้ ร่มบ่อสร่างเกิดขึ้นได้อย่างไร และใครเป็นผู้นำศิ
ลปะนี้มาเผยแพร่ เกิดขึ้นมาประมาณกี่ปี ดังจะได้บรรยายตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ล่วงลับไปแล้วดังนี้

เมื่อประมาณเกือบร้อยปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอินถา(นามฉายาไม่ปรากฏ) อยู่สำนักวัดบ่อสร้าง
พระคุณเจ้าองค์นี้ปฏิบัติธรรมด้วยการเดินธุดงค์อยู่เป็นประจำ ไม่เคยอยู่กับวัด ท่านมีนิสัยชอบดู ชอบฟัง ชอบการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีในถิ่นต่างๆไปเรื่อยจนทำให้ท่านได้ไปพบเห็นถิ่นต่างๆที่ไม่มีใครได้ไปพบเห็นในสมัยนั้น จนครั้งหนึ่ง ท่านได้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือซึ่งใกล้กับประเทศพม่า ท่านไปคราวนั้นนานเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้เป็นเพราะท่านได้ไปธุดงค์ใกล้กับชายแดนพม่า ผู้ที่มาทำบุญตักบาตรมักจะเป็นคนไทยและพม่ารวมกันเพราะใกล้ชายแดน

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านฉันอาหารเช้าอยู่นั้น ได้มีชาวพม่าใจบุญคนหนึ่งนำกลดมาถวาย เพราะเห็นว่าท่านไม่มีกลด หลังจากที่ท่านให้พรแก่ชาวพม่าผู้ถวายแล้วท่านก็ถามชาวพม่าดูว่า กลดนี้ทำขึ้นเองหรือ ชาวพม่าตอบว่า เป็นฝีมือของเข
าเองที่ทำขึ้นมาถวาย แล้วท่านก็ถามที่อยู่ของพม่าคนนั้น ซึ่งไม่ไกลจากที่ท่านพักอยู่เท่าไรเดินทางไปไม่กี่วันก็ถึง เมื่อชาวพม่ากลับไปแล้ว ท่านก็นำกลดขึ้นมาพิจารณาดูว่า เขาทำกันอย่างไรจึงสะดวกในการใช้และป้องกันได้ทั้งแดดและฝนด้วย ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศพม่าทันที เพราะท่านตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาวิธีทำกลดนี้ให้
ได้ พอไปถึงถิ่นที่พม่าทำกลดนั้น ท่านได้เห็นชาวบ้านทำร่มใช้กางกันแดดกันฝนได้ ซ้ำยังได้เห็นร่มขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเป็นร่มพิธีสำหรับใช้งานต่างๆทางศาสนาด้วย แต่ร่มเหล่านี้ทำด้วยกระดาษสาทั้งสิ้น ติดด้วยยางแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันแดดและฝน ท่านจึงได้ถามชาวบ้านดูว่า การทำร่มนี้มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ชาวบ้านก็อธิบายให้ท่านตั้งแต่ต้นจนถึงวิธีทำกระดาษสา เมื่อท่านได้ไปดูแล้ว ท่านก็บันทึกไว้เป็นขั้นตอนจนเสร็จและคิดที่จะเอามาทำที่บ้านเพราะอุปกรณ์ต่างๆ ทางบ้านเราก็มีพร้อมทุกอย่างหาได้ไม่ยาก ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางกลับ

พอถึงวัดท่านก็หาอุปกรณ์ต่างๆตามที่บันทึกมา และชักชวนชาวบ้านช่วยกันหาและสอนวิธีทำทุกอย่าง ท่านได้สั่งผู้ชายให้ไปหาเปลือกต้นสามาต้มให้เปื่อย และล้างให้สะอาด เลือกเอาที่อ่อนๆทุบให้ละเอียด
แล้วใช้ผ้าเป็นแบบพิมพ์ซึ่ง
ใช้ผ้าฝ้ายทอห่างๆ มีอ่างน้ำทำด้วยไม้สัก ในอ่างน้ำจะมีน้ำพอประมาณ แล้วเอาพิมพ์ผ้าวางลงในอ่าง เอาสาที่ทุบละเอียดแล้วมาละลายลงในพิมพ์ กวนให้แตกทั่วพิมพ์ยกขึ้นไปตากแดด พอแห้งก็ทำเป็นกระดาษได้ ในการนี้ท่านให้ผู้หญิงเป็นคนทำ เพราะผู้หญิงเป็นผู้มีความเพียรละเอียดกว่าผู้ชาย เหมือนกับในพม่าเขาก็ใช้ผู้หญิงเหมือนกัน

ส่วนการทำร่มท่านก็สอนผู้ชายทำกลอนโดยใช้ไม่ไผ่(ทางเหนือเรียกไม้บ่ง)
ส่วนหัวและตุ้มใช้ไม้ส้มเห็ด ส่วนคัน ส่วนคันให้ใช้ไม้รากและใช้ยางตะโกเป็นยางติด พอเสร็จแล้วใช้น้ำมันยางทาอีกทีเพื่อกันแดดกันฝน ในการนี้ชาวบ้านไม่กี่คนที่มีความสนใจได้มาฝึกฝนช่วยเหลือท่าน พอผลปรากฏออกมาชาวบ้านก็นำไปใช้กันบ้าง ในการเดินทางเพื่อกันแดดและฝน จนหมู่บ้านอื่นเมื่อมาเห็นเข้าจึงมีการสั่งซื้อไปใช้กันบ้าง พอมีการสั่งซื้อไปใช้กันก็กลายเป็นเงินขึ้นมา ตอนนั้นจึงมีชาวบ้านสนใจกันมากขึ้น แต่มนุษย์เราเมื่อทำอะไรแล้วก็ย่อมมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ มีการแก้ไขและดัดแปลงให้ดีมากข้นกว่าเดิม เมื่อมีคนทำมากขึ้นก็เลยกลายเป็นงานอดิเรกนอกเหนือจากการทำนา พอทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จก็หันกันมาทำร่มตามหมู่บ้า พอทำเสร็จก็นำไปขายในเมืองบ้างเล็กๆน้อยๆ

ต่อมามีชาวอำเภอสันป่าตองหมู่บ้านหนึ่งเรียกกันว่าบ้านแม่วาง ก็มีการทำร่มเหมือนคนในหมู่บ้านนี้ ซึ่งได้รับศิลปะการทำร่มมาจากไหนไม่
ปรากฏ ทำร่มเสร็จแล้วนำมาขายในเมืองทั้งร่มผ้าและร่มกระดาษสา พอชาวบ่อสร้างเห็นเข้าจึงพากันไปดู และคิดวิธีทำร่มผ้าขึ้นมาอีก จนพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากน้ำมันยางที่ทามาเป็นน้ำ มันมะเหมื้อ ซึ่งมีความนุ่มและทนทานกว่าน้ำมันยางมาก และใช้ผสมกับหางได้ดีด้วย(หางที่ว่านี้เป็นสีฝุ่น เดี๋ยวนี้มีขายแต่ในประเทศพม่าเท่านั้น ราคาแพงมาก ) พอชาวบ้านรู้จักวิธีทำร่มด้วยผ้าแล้ว ก็มาพัฒนาทำกันขึ้นจนในปี พ.ศ. 2484 ชาวบ้านได้รวมกันตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นในหมู่บ้าน เรียกสหกรณ์นี้ว่า สหกรณ์ทำร่มบ่อสร้างจำกัดสินใช้ สมัยนั้นมีนายจำรูญ สุทธิวิวัฒน์ สหกรณืจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ และชักนำให้ประชาชนทำร่มซึ่งมีขนาดต่างๆ เช่น 14 นิ้ว 16 นิ้ว 18 นิ้ว 20 นิ้ว และร่มใหญ่มีขนาด 35 และ 40 นิ้ว ตามลำดับ ทำกันทั้งร่มผ้าและร่มกระดาษ และทาสีน้ำมันซึ่งเป็นสีต่างๆ เช่น สีแดง เหลือง น้ำเงิน และเขียว มาผสมกับน้ำมันมะเหมื้อ(เพราะสมัยนั้นเริ่มมีน้ำมันเข้ามาขายแล้ว) ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 ทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือถนนทุ่งโฮเต็ลมาช่วยเหลือพัฒนาสอนการทำกระดาษสาด้วยพิมพ์ผ้าเป็นเหล็กตาข่ายเล็กๆ ตัดขึ้นมาตามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ สินค้าร่มได้พัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นร่มเขียนดอกภาพวิวต่างๆ การทำร่มเหล่านี้เจริญขึ้นได้ก็เพราะทางการมีส่วนช่วยเหลือจนกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ดี และต่างประเทศก็ยังได้เชิญไปสาธิตการวาดร่มในประเทศเขาเพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้นมาชม จนร่มบ่อสร้างได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ไป


พวกเราทั้งหลายควรระลึกถึงพระคุณท่าน ที่ได้นำศิลปะนี้มาเผยแพร่ให้เป็นอาชีพของพวกเราอยู่ทุกวันนี้ อันความสามารถและฉลาดหลักแหลมของพ่อหลวงอินถานี้ พวกเราจะลืมไม่ได้ชั่วนิรันดร์

พ่อน้อยศรีนวล ต๊ะแสง ผู้บันทึก
บันทึกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2525

เรียบเรียงโดย ชมรมพ่อค้าบ่อสร้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น