วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



เส้นทางการเดินทางของร่มบ่อสร้าง....

เชื่อมสายใยวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์และชนชาติ

หลายพันกว่าปีที่ผ่านมา เราได้รับรู้เส้นทางอาระยะธรรมระหว่างเผ่าพันธุ์และชนชาติ ที่เรียกขานกันว่า “เส้นทางสายไหม” ซึ่งมีที่มาจากการค้าขายผ้าไหมอันงดงามลือชื่อของประเทศจีนในอดีตกับนานาอาระยะประเทศต่างๆทั่วโลก

หลายพันกว่าปีเช่นกัน.....ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่เชื่อมสายใยวัฒนธรรมระหว่างเผ่าพันธุ์และชนชาติ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวข่านถึงรากเง้าและวิถีความมีอยู่จริงจากอดีตมาถึงปัจจุบัน.............นั่นก็คือเส้นทางวัฒนธรรมแห่งร่มโลก

จากดินแดนอันไพศาลกว้างใหญ่ของประเทศจีน ทางตอนใต้ ซึ่งติดต่อกับอาณาเขตของประเทศพม่า,ลาวและไทย

ซึ่งในอดีตยังไม่มีพรมแดนแบ่งอาณาเขต สร้างรั้วหลักปักปันเหมือนเช่นทุกนี้

แคว้นสิบสองปันนา,เมืองเชียงรุ้งประเทศจีน มีชนเผ่าไทลื้อดำรงเผ่าพันธุ์อย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนา

ด้วยทรัพยากรป่าไผ่อันอุดมสมบูรณ์หนาแน่น จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์หลากชนิดที่ทำจากต้นไผ่...รวมทั้งการก่อกำเนิดของร่มไม้ไผ่คันแรกก็ได้เริ่มอุบัติ ณ ที่แห่งนี้

รัฐฉาน,เมืองเชียงตุง,หมู่บ้านปะเตงประเทศพม่า มีชนเผ่าไทยใหญ่ดำรงเผ่าพันธุ์อย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนาเช่นกัน

ด้วยเหตุที่พรมแดนไม่ได้แบ่งกั้นอย่างทุกวันนี้ ชนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์เดินทางไปมาหาสู่แบ่งปันวัฒนธรรมกันอย่างเสรี ร่มไม้ไผ่กระดาษสาที่ผลิตขึ้นที่สิบสองปันนาของประเทศจีน ได้ถูกผสมผสานเป็นร่มฉานแห่งบ้านปะเตงของพม่าได้อย่างสนิทใจ

……………………………………………………………………………….

ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กัน คืออาณาจักรล้านนาในเขตประเทศสยาม หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองชั้นเอก และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและการปกครองทางเหนือสุดของประเทศไทยกว่า 700ปีที่ผ่านมา ชนเผ่าไทลื้อและไทยใหญ่จากสิบสองปันนาและเมืองเชียงตุงประเทศพม่า ได้นำวิถีและวัฒนธรรมปฏิบัติของชุมชนเข้ามาฝังรกรากในดินแดนล้านนาอย่างกลมกลืน

เส้นการเดินทางของวัฒนธรรมการผลิตและการใช้ร่มไม้ไผ่จากเมืองจีนมายังพม่าและมาถึงไทยได้ ก็เป็นไปได้เพราะวัฒนธรรมที่ได้มาจากการเผยแพร่ของชนเผ่าต่างชนชาตินี่เอง

…………………………………………………………………….

ความชัดเจนของร่มไม้ไผ่จากพม่ามาสู่ไทยได้ปรากฏขึ้นเด่นชัดจากตำนานคำบอกเล่าของคนในยุคก่อนกว่า 200ปี ที่ผ่านมา ดังมีเรื่องราวสาระดังต่อไปนี้

หลวงพ่ออินถา พระสงฆ์ผู้ธุดงค์ไปมาหาสู่จากพม่าและไทยเป็นประจำ ได้นำกลดหรือร่มธุดงค์ของพระสงฆ์จากพม่าเข้ามายังไทยที่เมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ชุมชนบ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง กลดได้เกิดการชำรุดเสียหาย หลวงพ่อจึงนำไปให้ชาวบ้านช่วยซ่อมแซมจนกลดใช้ได้ดีดังเดิม

เมื่อเห็นถึงความสามารถในการซ่อมกลดของชาวบ้านดังนั้น หลวงพ่ออินถาจึงได้แนะนำให้ชาวบ้านลองผลิตกลดขึ้นใหม่ทั้งคัน ชาวบ้านได้ลองทำขึ้นใหม่ในขนาดที่เล็กกว่ากลดเดิม ลองผิดลองถูกนานๆเข้า กลายเป็นร่มขนาดที่ใช้เหมาะมือ จนสามารถผลิตใช้สอยกันภายในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง

ร่มบ่อสร้างในยุคแรกๆทำด้วยไม้ไผ่ทั้งคัน หุ้มด้วยกระดาษสาที่ผลิตกันเองภายในหมู่บ้านเช่นกัน ด้วยเปลือกปอสาทุบแล้วต้มให้ละลายด้วยน้ำขี้เถ้า ใช้ตะแกรงไม้ไผ่ล่อนช้อนมาตากแดดจนแห้ง แล้วนำมาหุ้มเป็นตัวร่ม ทาด้วยน้ำตะโก๋เพื่อให้กระดาษสาติดเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้มีความเหนียวทนทานต่อแดดและฝน

สีสันของร่มในยุคก่อนนั้นถ้าทาด้วยฝุ่นแดงก็จะ เป็นร่มสีแดง ทาด้วยดินหม้อสีดำก็จะเป็นร่มสีดำ มีทำใช้กันอยู่สองสีเท่านั้น

ตามลานบ้านที่โล่งแจ้งในหมู่บ้านบ่อสร้าง จะเต็มไปด้วยตะแกรงไม้ไผ่ใช้ตากกระดาษสาและตากร่มที่ทาน้ำตะโก๋และทาสีบนร่มเต็มไปหมด

อีกไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น มีการเริ่มวาดลวดลายต่างๆเพิ่มสีสันลงบนร่มเพื่อให้เกิดความสวยงามและน่าหยิบใช้มากขึ้น รูปดอกไม้เป็นที่นิยมวาดอย่างมากในขณะนั้น

ตามใต้ถุนบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนซึ่งเป็นที่พ้นแดด ชาวบ้านไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ จะช่วยกันตกแต่งและวาดลวดลายลงบนร่มกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ร่มบ่อสร้างเริ่มเป็นที่รู้จักกันในระแวกหมู่บ้านใกล้เคียงมากขึ้น จากที่ตั้งใจผลิตเพื่อใช้ในชุมชน ก็เริ่มนำออกจำหน่ายจ่ายแจกกระจายทั่วไปมากขึ้น

…………………………………………………………………………….

ในชุมชนของบ้านบ่อสร้าง มีบ่อน้ำเล็กๆอยู่บ่อหนึ่ง รอบๆบ่อมีไม้ซางขึ้นอยู่รายรอบบ่อเต็มไปหมด จึงเป็นเหตุที่มาของชื่อชุมชนที่เรียกกล่าวขานทั่วไปในขณะนั้นว่า “หมู่บ้านบ่อซาง”

แต่หลังจากที่มีการผลิตร่มไม้ไผ่กระดาษสาออกแพร่หลายทั่วไป คนต่างถิ่นได้เดินทางแวะเวียนเข้ามายังชุมชนมากขึ้น การออกเสียงเรียกชื่อหมู่บ้านบ่อซางจึงเพี้ยนจากเดิมมาเป็นบ่อสร้าง...และนี่คือที่มาของชื่อเรียกขานหมู่บ้านบ่อซางเสียใหม่ว่าเป็นหมู่บ้านบ่อสร้างจนถึงเท่าทุกวันนี้

....................................................................................................

การผลิตร่มของหมู่บ้านบ่อสร้างในระยะต่อมา ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐมากขึ้นตามลำดับ จากการใช้กระดาษสาหุ้มทำเป็นร่มแต่เพียงอย่างเดียว ก็มีการใช้ผ้าแพรหลากสีสันหุ้มแทนเพื่อความสวยงามและนำไปเป็นของฝากของที่ระลึก

พ่อค้าต่างถิ่นต่างทะยอยเข้ามาซื้อร่มไปจำหน่ายมากขึ้น นักเดินทางต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มรู้จักร่มบ่อสร้าง ต่างแนะนำชวนกันมาดูการผลิตเพิ่มมากขึ้น

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือมีชื่อเรียกย่อในขณะนั้นว่า อสท. หรือเรียกชื่อใหม่ในปัจจุบันว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคือ ททท. ก็เริ่มนำร่มบ่อสร้างและวิถีชีวิตของชุมชนบ้านบ่อสร้างออกเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาเที่ยวยังหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้นอย่างต่อเนื่อง การกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้างครั้งที่ 1 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10-12 มกราคม พ.ศ. 2525 ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดในด้านการท่องเที่ยวและเพื่ออนุรักษ์พัฒนาการทำร่มบ่อสร้างให้คงอยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยตลอดไป

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สัญญลักษณ์สำคัญในการโฆษณาการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไทย จึงมักจะมีร่มบ่อสร้างเป็นเอกลักษณ์สำคัญร่วมด้วยเสมอไป

การถือกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้างนอกจากจะได้สร้างคุณูประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชุมชนชาวบ้านบ่อสร้างแล้ว ยังถือได้ว่า หมูบ้านทำร่มบ้านบ่อสร้างได้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งแรกที่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านอื่นๆอีกหลายหมู่บ้านทั่วไปในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ได้มีการพัฒนาในทิศทางของการท่องเที่ยวเช่นกัน

......................................................................................................................

การกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้าง ได้สร้างตำนานและมิติใหม่ให้กับวงการประกวดสาวงามชาวเมืองเหนือของอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่อีกอย่างหนึ่งก็ คือ การจัดให้มีการประกวดธิดาร่มบ่อสร้างและแม่ญิ่งขี่รถถีบกางจ้อง

ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้วงการประกวดสาวงามที่ต้องมีความสามารถถีบรถจักรยานและกางจ้องไปด้วย เสมือนการใช้ชีวิตประจำวันของสาวเชียงใหม่ที่ต้องขี่รถถีบออกไปทำงานเป็นกิจวัตรประจำวันของคนในสมัยนั้น

และจากตำนานของสาวงามแห่งเมืองเชียงใหม่ดังกล่าว การประกวดธิดาร่มและแม่ญิ่งขี่รถถีบกางจ้องในงานเทศกาลร่ม ก็ได้มีการจัดประกวดสืบสานกันต่อๆมาในทุกๆปีจนถึง ปีปัจจุบัน

.....................................................................................................................

ฐา-จันทรา ถ้อยคำ

สุรเชษฐ์ เรืองจันทร์ เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น