วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



บ่อน้ำ...บ่อสร้าง

ตำนานบ่อน้ำบ่อสร้างและประวัติความเป็นมา

เรื่องราวความเป็นมา และต้นตอบ่อเกิดของบ่อน้ำบ่อสร้างในอดีต ล้วนเกี่ยวพันมาถึงชื่อของหมู่บ้านบ่อสร้างในปัจจุบันอย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้คนจำนวนมากมายใคร่อยากจะรู้ถึงประวัติความเป็นมาของชื่อหมู่บ้าน “ บ่อสร้าง”ว่ามีที่มาได้อย่างไร ? และถ้าชื่อของหมู่บ้านบ่อสร้างแห่งนี้ไม่ได้เป็นชื่อของหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในด้านของการทำร่มที่เป็นที่รู้จักกันในฐานะของหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหัตถกรรม ก็คงไม่มีใครอยากที่จะสนใจประวัติความเป็นมาของชื่อคำว่า “ บ่อสร้าง ”เป็นแน่แท้

มีผู้รู้ระดับปราชญของชาวบ้านหลายท่านได้สืบสานเล่าต่อกันมาหลากหลายประเด็นถึงเหตุที่มาของ

“ บ่อน้ำ...บ่อสร้าง”แห่งนี้ ซึ่งผู้เรียบเรียงก็สามารถแยกแยะประเด็นออกมาได้ 3 ประเด็นดังนี้

ในประเด็นที่หนึ่ง ได้กล่าวถึงเรื่องของคนรุ่นเก่าเล่าขานกันมาว่า เมื่อราวปี พ.ศ 2519 อาจารย์ปวงคำ ตุ้ยเขียว ผู้ที่เคยเขียนประวัติบ่อน้ำบ่อสร้างในสมัยหนึ่งได้ไปพบพูดคุยกับพ่อขุนเปา เปรมประชา ซึ่งอายุของท่านในตอนนั้นกว่า 90 ปี ( ซึ่งในสมัยนั้นตำแหน่งพ่อขุนถือว่าเป็นตำแหน่งทางศักดินามีที่นาอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก และมีอำนาจในการดูแลปกครองราษฎรในเขตตำบลต้นเปาทั้งหมด)

ท่านขุนเปาเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนพ่อขุนเปายังหนุ่มอยู่ ก็ได้ยินพ่อหม่อน(ปู่)เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ด้านใต้กำแพงวัดศรีสุพรรณสันน้ำบ่อสร้างลงไปด้านใต้จนถึงถนนเชียงใหม่-สันกำแพง(ในสมัยนี้)ไม่ค่อยมีบ้านเรือนผู้ใดปลูกอาศัยอยู่เลย มีแต่ทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตาเต็มไปหมด จะมีก็แต่ถนนเล็กๆพอล้อเกวียนเดินได้(ปัจจุบันก็คือถนนเข้าหมู่บ้านบ่อสร้างไปดอยสะเก็ด)

ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไกลจากวัดศรีสุพรรณสันน้ำบ่อสร้างไปประมาณ 200 เมตร มีบ่อน้ำแห่งหนึ่งอยู่กลางทุ่งนา ขนาดของบ่อน้ำไม่ใหญ่เท่าไรนัก อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนในหมู่บ้าน คนทั้งหลายเรียกกันว่า“ บ่อซาง” เพราะอยู่ติดกับริมกอไม้ซาง( ไม้ไผ่) บ่อน้ำแห่งนี้ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้อาศัยอาบกินชั่วลูกหลานมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นบ่อน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน ซึ่งต่างก็ให้ความนับถือและไม่กล้าลบหลู่ทำสิ่งไม่ดีไม่งามกับบ่อน้ำแห่งนี้

การที่บ่อน้ำบ่อซางแห่งนี้มีความสำคัญต่อชุมชนและเป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วถึงชุมชนใกล้เคียง การเรียกชื่อและพูดคุยถึงบ่อน้ำบ่อซางนานๆเข้าจากคนต่างถิ่นบ่อยๆ สำเนียงการออกเสียงของคำว่า “ ซาง”จึงเพี้ยนไปเป็นคำว่า “ สร้าง ”แทนดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า น้ำบ่อสร้าง”แทนคำว่า”น้ำบ่อซาง”และชื่อของหมู่บ้านจึงเป็นชื่อ “บ้านบ่อสร้าง” ในท้ายสุด

ตามตำนานอีกประด็นหนึ่งที่เป็นที่มาของน้ำบ่อสร้างก็คือ มีเรื่องเล่าต่อกันว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเดินเทศน์สันถี มาพักจำวัดอยู่ในบริเวณที่เป็นวัดพระนอนปูคาในปัจจุบัน( คำว่าปูคาก็มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ครั้นพระพุทธเจ้าเสร็จมาสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านนำเอาหญ้าคามาถวายเพื่อปูทำเป็นที่นอนให้กับพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านปูคาในปัจจุบันนี้) ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้ให้พระอานนท์นำเอาบาตรไปตักน้ำที่บ่อน้ำแห่งหนึ่งเพื่อนำมาฉันท์ หลังจากที่พระองค์ฉันท์เสร็จแล้วได้ทรงทำนายไปว่า ในภายภาคหน้า ชื่อบ่อน้ำที่พระอานนท์ตักน้ำมาถวายนั้นจักได้ชื่อว่า “ บ่อสร้าง”

และอีกตำนานหนึ่งก็กล่าวเสริมถึงวัดพระนอนแม่ปูคาซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านแม่ปูคาอยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านบ่อสร้างเท่าไรนักประมาณ 800 เมตร สืบเล่ากันมาว่าวัดพระนอนแม่ปูคาสร้างขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสร็จมาประทับยังสถานที่แห่งนี้แล้วชาวบ้านน้ำหญ้าคามาปูถวายให้ประทับพระวรกาย ครั้นพระองค์เสร็จจากไป ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนอนไว้เป็นอนุสรณ์สถานว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เคยมาประทับอยู่ ณ ที่แห่งนี้

หลักจากนั้นอีกหลายร้อยปีผ่านไป ลุล่วงมาถึงสมัยพระนางเจ้าจามเทวีจากนครหิริภุญชัย(เมืองลำพูนในปัจจุบันนี้) ได้เสร็จมานมัสการพระพุทธรูปพระนอนปูคา พระองค์ตั้งจิตอธิฐานที่จะสร้างน้ำบ่อแห่งหนึ่งขึ้นมาให้ชุมชนที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงวัดพระนอนปูคาได้ใช้อาศัยอาบกิน ทรงจุดบอกไฟเสี่ยงทายไปว่าถ้าบอกไฟตกลงไปในที่ทางใด ก็ให้”สร้างบ่อน้ำ”แห่งนั้นขึ้นมา เมื่อขุดเสร็จแล้วจึงมีชื่อเรียกกันตอนนั้นว่า “ บ่อน้ำสร้าง” แต่ต่อมาเรียกกันสั้นเข้าว่า “ บ่อสร้าง”

บ่อน้ำบ่อสร้าง

ความสัมพันธ์และความเกี่ยวพันกับผู้คนในชุมชน

ในอดีต บ่อน้ำบ่อสร้างแห่งนี้ซึ่งนอกจากจะสร้างคุณประโยชน์สำหรับการบริโภคใช้สอยให้กับชุมชนมาตลอดเวลาช้านานแล้ว เป็นที่น่าแปลกอย่างหนึ่งว่า ในปัจจุบันนี้ น้ำในบ่อน้ำบ่อสร้างแห่งนี้ไม่ได้เหือดแห้งหายไปตามกาลเวลาเหมือนกับบ่อน้ำบ่ออื่นๆในหมู่บ้าน ซ้ำยังมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาของชุมชนในความแปลกน่าหัศจรรย์ของบ่อน้ำแห่งนี้มาจากคำบอกเล่าจากชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในปี พ.ศ.2521 แม่ออน บุญตันจีน อายุ 57 ปี ได้เล่าให้กับผู้บันทึกนี้ว่า บ่อน้ำบ่อสร้างเป็นบ่อน้ำที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตย์อยู่ ถ้าถึงวันพระ 8 ค่ำหรือ 15 ค่ำ จะได้ยิยเสียงแห่ฆ้องกลองดังอื้ออึงในบ่อน้ำแห่งนี้ และเวลาประมาณ 1-2 ที่ม ก็จะเห็นพระธาตุสีเขียวลอยออกจากบ่อน้ำนี้ลอยไปทางทิศตะวันตก แล้วก็จะลอยกลับมายังบ่อน้ำแห่งนี้ในตอนดึก พระธาตุที่ลอยออกจากบ่อน้ำนั้นจะเปล่งรัศมีสีเขียวสวยสดงดงามมาก

แม่คำออนได้เล่าให้ฟังอีกว่า ถ้ามีคนนำผ้าถุง ผ้าซิ่นไปซักใกล้บ่อน้ำนี้ จะมีกลิ่นเหม็นออกมาจากบ่อน้ำ

จะต้องนำเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสู่มาคารวะ พรมน้ำขมิ้นส้มป่อยบริเวณรอบบ่อน้ำ กลิ่นเห็นจึงจะหาย

ปัจจุบันนี้ คนที่เคยเห็นพระธาตุลอยออกมาจากบ่อน้ำแห่งนี้อีกคนหนึ่งที่ยืนยันการเห็น และได้เล่าให้ผู้บันทึกทราบก็คือ คุณมุกดา เทพปัญญา เพราะบ้านพ่อแม่ของคุณมุกดาอยู่ใกล้กันกับบ่อน้ำบ่อสร้างแห่งนี้

บุคคลอีกคนหนึ่งที่มีความสำคัญกับบ่อน้ำบ่อสร้างแห่งนี้ก็คือ แม่วรรณ จันทร์มา เพราะว่าในปัจจุบัน สถานที่ตั้งของบ่อน้ำบ่อสร้างที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ อยู่บนที่ดินที่แม่วรรณซึ่งท่านได้ครอบครองถือกรรมสิทธิ์อยู่ โดยให้พ่อสม พันอ้น เป็นผู้สร้างบ้านอยู่อาศัยติดกับบ่อน้ำบ่อสร้างใกล้ปากทางซอย 7 ของหมู่บ้านบ่อสร้าง

แม่วรรณเล่าให้ฟังว่า บ่อน้ำบ่อสร้างในอดีต ก็เห็นกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายเป็นรุ่นๆกันมา ลักษณะบ่อน้ำไม่ได้ใหญ่กว่าปัจจุบันมากนัก รอบๆบริเวณบ่อชาวบ้านสมัยนั้นเอาปีกไม้มากั้นล้อมรอบบ่อน้ำ ป้องกันเด็กและสรรพสัตว์ต่างๆจะเดินตกลงไป ที่น่าแปลกนอกจากจะมีไม้ซางล้อมรอบอีกชั้นหนึ่งแล้ว มีต้นมะพร้าวใหญ่ต้นหนึ่ง กาบฃองมันจะเรียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นแถวแนวเดียวกันถึง 5 แถว ซึ่งต้นมะพร้าวอื่นโดยทั่วไปกาบจะเรียงสลับกันไปมารอบๆลำต้น ในแต่ละกาบจะมีลูกมะพร้าวเป็นทะลายรวมกันอยู่ ชาวบ้านในระแวกนี้มักจะมาตักน้ำไปดื่มเพราะเชื่อว่าเป็นยารักษา บางคนจุดธูปเทียนบูชาต่างๆนานา

เคยมีอยู่คราวหนึ่งแม่วรรณเล่าให้ฟังว่า ได้ใช้น้ำทุ่ง(ภาชนะตักน้ำสานด้วยไม้ไผ่ชันยากันน้ำรั่ว)ตักน้ำในบ่อน้ำบ่อสร้างขึ้นมา ขณะนั้นเกิดอาการสั่นสะเทือนขึ้นกับพื้นดินที่เท้าทั้งสองข้างได้เหยียบอยู่พอรู้สึกได้ ก็ชะโงกหน้าลงไปที่บ่อน้ำ ปรากฏได้ยินเสียงฆ้องกลองขึ้นมาจากหลุมในบ่อน้ำ ซึ่งเป็นที่มีของอาการสั่นสะเทือนบนพื้นดินที่แม่วรรณได้เหยียบอยู่ ท่านตกใจและรีบกลับเข้าไปในบ้านทันที

ในวาระสำคัญทางพุทธศาสนา พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบุญกุศลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีปีใหม่เมือง(วันสงกรานต์) ชาวบ้านบ่อสร้างและระแวกใกล้เคียงจะนำน้ำจากบ่อน้ำบ่อสร้างไปทำเป็นน้ำมนต์ปะพรมเพื่อเป็นสิริมงคลกับครอบครัวและชุมชน ส่วนในวันสงกรานต์น้ำจากบ่อน้ำบ่อสร้างชาวบ้านจะนำไปใช้สรงน้ำพระที่วัดพระนอนปูคาเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

สรุปการบันทึกในท้ายนี้ บ่อน้ำบ่อสร้างที่เราเห็นอยู่กันในปัจจุบันที่วัดบ่อสร้างนั้น เป็นบ่อน้ำบ่อสร้างจำลองที่ชาวบ้านบ่อสร้างได้สร้างขึ้นไว้ภายในบริเวณวัดบ่อสร้าง และได้ทำพิธีทำบุญและทำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ที่บ่อน้ำเดิมให้มาสถิตย์อยู่ที่บ่อน้ำบ่อใหญ่ที่วัดบ่อสร้างเพื่อสะดวกในการทำบุญบูชาเป็นประเพณีสืบทอดกันมา ส่วนบ่อน้ำบ่อสร้างเก่าดั้งเดิมนั้นอยู่ในบริเวณบ้านพ่อสม พันอ้น บนที่ดินของแม่วรรณ ปากทางซอย 7ภายในหมู่บ้านบ่อสร้างนั่นเอง( อยู่ห่างจากบ่อที่วัดประมาณ 200 เมตร)

บ่อน้ำบ่อสร้างแห่งนี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนชาวบ้านบ่อสร้างในอรรถประโยชน์หลายอย่างแล้ว ยังเปรียบเสมือนตัวแทนและสัญลักษณ์รกรากทางจิตวิญญาณและบันทึกวิถีชีวิตของชุมชนที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราชาวบ้านบ่อสร้างทุกคนควรจะได้ภาคภูมิใจ และยังเป็นที่น่าสมควรอย่างยิ่งที่ชุมชนแห่งนี้จะได้ช่วยกันหวงแหนทำนุบำรุงให้อยู่คู่กับหมู่บ้านบ่อสร้างของเราสืบไปชั่วกาลนาน.

นายสมศักดิ์ บุญตันจีน ผู้บันทึก

นายสุรเชษฐ์ เรืองจันทร์ ผู้เรียบเรียง

17 กรกฎาคม 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น