วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553



ประวัติความเป็นมาของร่มบ่อสร้าง


หลวงพ่ออินถา
พระผู้สร้างตำนานหมู่บ้านทำร่มบ่อสร้าง


การทำร่มบ่อสร้างเป็นอาชีพหัตถกรรมของชาวบ้านในอำเภอสันกำแพง ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างหนึ่งจนทุกวันนี้ ร่มบ่อสร่างเกิดขึ้นได้อย่างไร และใครเป็นผู้นำศิ
ลปะนี้มาเผยแพร่ เกิดขึ้นมาประมาณกี่ปี ดังจะได้บรรยายตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ล่วงลับไปแล้วดังนี้

เมื่อประมาณเกือบร้อยปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอินถา(นามฉายาไม่ปรากฏ) อยู่สำนักวัดบ่อสร้าง
พระคุณเจ้าองค์นี้ปฏิบัติธรรมด้วยการเดินธุดงค์อยู่เป็นประจำ ไม่เคยอยู่กับวัด ท่านมีนิสัยชอบดู ชอบฟัง ชอบการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีในถิ่นต่างๆไปเรื่อยจนทำให้ท่านได้ไปพบเห็นถิ่นต่างๆที่ไม่มีใครได้ไปพบเห็นในสมัยนั้น จนครั้งหนึ่ง ท่านได้ธุดงค์ไปทางทิศเหนือซึ่งใกล้กับประเทศพม่า ท่านไปคราวนั้นนานเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้เป็นเพราะท่านได้ไปธุดงค์ใกล้กับชายแดนพม่า ผู้ที่มาทำบุญตักบาตรมักจะเป็นคนไทยและพม่ารวมกันเพราะใกล้ชายแดน

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านฉันอาหารเช้าอยู่นั้น ได้มีชาวพม่าใจบุญคนหนึ่งนำกลดมาถวาย เพราะเห็นว่าท่านไม่มีกลด หลังจากที่ท่านให้พรแก่ชาวพม่าผู้ถวายแล้วท่านก็ถามชาวพม่าดูว่า กลดนี้ทำขึ้นเองหรือ ชาวพม่าตอบว่า เป็นฝีมือของเข
าเองที่ทำขึ้นมาถวาย แล้วท่านก็ถามที่อยู่ของพม่าคนนั้น ซึ่งไม่ไกลจากที่ท่านพักอยู่เท่าไรเดินทางไปไม่กี่วันก็ถึง เมื่อชาวพม่ากลับไปแล้ว ท่านก็นำกลดขึ้นมาพิจารณาดูว่า เขาทำกันอย่างไรจึงสะดวกในการใช้และป้องกันได้ทั้งแดดและฝนด้วย ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศพม่าทันที เพราะท่านตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาวิธีทำกลดนี้ให้
ได้ พอไปถึงถิ่นที่พม่าทำกลดนั้น ท่านได้เห็นชาวบ้านทำร่มใช้กางกันแดดกันฝนได้ ซ้ำยังได้เห็นร่มขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเป็นร่มพิธีสำหรับใช้งานต่างๆทางศาสนาด้วย แต่ร่มเหล่านี้ทำด้วยกระดาษสาทั้งสิ้น ติดด้วยยางแล้วทาด้วยน้ำมันเพื่อกันแดดและฝน ท่านจึงได้ถามชาวบ้านดูว่า การทำร่มนี้มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ชาวบ้านก็อธิบายให้ท่านตั้งแต่ต้นจนถึงวิธีทำกระดาษสา เมื่อท่านได้ไปดูแล้ว ท่านก็บันทึกไว้เป็นขั้นตอนจนเสร็จและคิดที่จะเอามาทำที่บ้านเพราะอุปกรณ์ต่างๆ ทางบ้านเราก็มีพร้อมทุกอย่างหาได้ไม่ยาก ต่อจากนั้นท่านก็เดินทางกลับ

พอถึงวัดท่านก็หาอุปกรณ์ต่างๆตามที่บันทึกมา และชักชวนชาวบ้านช่วยกันหาและสอนวิธีทำทุกอย่าง ท่านได้สั่งผู้ชายให้ไปหาเปลือกต้นสามาต้มให้เปื่อย และล้างให้สะอาด เลือกเอาที่อ่อนๆทุบให้ละเอียด
แล้วใช้ผ้าเป็นแบบพิมพ์ซึ่ง
ใช้ผ้าฝ้ายทอห่างๆ มีอ่างน้ำทำด้วยไม้สัก ในอ่างน้ำจะมีน้ำพอประมาณ แล้วเอาพิมพ์ผ้าวางลงในอ่าง เอาสาที่ทุบละเอียดแล้วมาละลายลงในพิมพ์ กวนให้แตกทั่วพิมพ์ยกขึ้นไปตากแดด พอแห้งก็ทำเป็นกระดาษได้ ในการนี้ท่านให้ผู้หญิงเป็นคนทำ เพราะผู้หญิงเป็นผู้มีความเพียรละเอียดกว่าผู้ชาย เหมือนกับในพม่าเขาก็ใช้ผู้หญิงเหมือนกัน

ส่วนการทำร่มท่านก็สอนผู้ชายทำกลอนโดยใช้ไม่ไผ่(ทางเหนือเรียกไม้บ่ง)
ส่วนหัวและตุ้มใช้ไม้ส้มเห็ด ส่วนคัน ส่วนคันให้ใช้ไม้รากและใช้ยางตะโกเป็นยางติด พอเสร็จแล้วใช้น้ำมันยางทาอีกทีเพื่อกันแดดกันฝน ในการนี้ชาวบ้านไม่กี่คนที่มีความสนใจได้มาฝึกฝนช่วยเหลือท่าน พอผลปรากฏออกมาชาวบ้านก็นำไปใช้กันบ้าง ในการเดินทางเพื่อกันแดดและฝน จนหมู่บ้านอื่นเมื่อมาเห็นเข้าจึงมีการสั่งซื้อไปใช้กันบ้าง พอมีการสั่งซื้อไปใช้กันก็กลายเป็นเงินขึ้นมา ตอนนั้นจึงมีชาวบ้านสนใจกันมากขึ้น แต่มนุษย์เราเมื่อทำอะไรแล้วก็ย่อมมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ มีการแก้ไขและดัดแปลงให้ดีมากข้นกว่าเดิม เมื่อมีคนทำมากขึ้นก็เลยกลายเป็นงานอดิเรกนอกเหนือจากการทำนา พอทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จก็หันกันมาทำร่มตามหมู่บ้า พอทำเสร็จก็นำไปขายในเมืองบ้างเล็กๆน้อยๆ

ต่อมามีชาวอำเภอสันป่าตองหมู่บ้านหนึ่งเรียกกันว่าบ้านแม่วาง ก็มีการทำร่มเหมือนคนในหมู่บ้านนี้ ซึ่งได้รับศิลปะการทำร่มมาจากไหนไม่
ปรากฏ ทำร่มเสร็จแล้วนำมาขายในเมืองทั้งร่มผ้าและร่มกระดาษสา พอชาวบ่อสร้างเห็นเข้าจึงพากันไปดู และคิดวิธีทำร่มผ้าขึ้นมาอีก จนพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากน้ำมันยางที่ทามาเป็นน้ำ มันมะเหมื้อ ซึ่งมีความนุ่มและทนทานกว่าน้ำมันยางมาก และใช้ผสมกับหางได้ดีด้วย(หางที่ว่านี้เป็นสีฝุ่น เดี๋ยวนี้มีขายแต่ในประเทศพม่าเท่านั้น ราคาแพงมาก ) พอชาวบ้านรู้จักวิธีทำร่มด้วยผ้าแล้ว ก็มาพัฒนาทำกันขึ้นจนในปี พ.ศ. 2484 ชาวบ้านได้รวมกันตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นในหมู่บ้าน เรียกสหกรณ์นี้ว่า สหกรณ์ทำร่มบ่อสร้างจำกัดสินใช้ สมัยนั้นมีนายจำรูญ สุทธิวิวัฒน์ สหกรณืจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ และชักนำให้ประชาชนทำร่มซึ่งมีขนาดต่างๆ เช่น 14 นิ้ว 16 นิ้ว 18 นิ้ว 20 นิ้ว และร่มใหญ่มีขนาด 35 และ 40 นิ้ว ตามลำดับ ทำกันทั้งร่มผ้าและร่มกระดาษ และทาสีน้ำมันซึ่งเป็นสีต่างๆ เช่น สีแดง เหลือง น้ำเงิน และเขียว มาผสมกับน้ำมันมะเหมื้อ(เพราะสมัยนั้นเริ่มมีน้ำมันเข้ามาขายแล้ว) ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2500 ทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเหนือถนนทุ่งโฮเต็ลมาช่วยเหลือพัฒนาสอนการทำกระดาษสาด้วยพิมพ์ผ้าเป็นเหล็กตาข่ายเล็กๆ ตัดขึ้นมาตามที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ สินค้าร่มได้พัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นร่มเขียนดอกภาพวิวต่างๆ การทำร่มเหล่านี้เจริญขึ้นได้ก็เพราะทางการมีส่วนช่วยเหลือจนกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ดี และต่างประเทศก็ยังได้เชิญไปสาธิตการวาดร่มในประเทศเขาเพื่อให้ประชาชนในประเทศนั้นมาชม จนร่มบ่อสร้างได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ไป


พวกเราทั้งหลายควรระลึกถึงพระคุณท่าน ที่ได้นำศิลปะนี้มาเผยแพร่ให้เป็นอาชีพของพวกเราอยู่ทุกวันนี้ อันความสามารถและฉลาดหลักแหลมของพ่อหลวงอินถานี้ พวกเราจะลืมไม่ได้ชั่วนิรันดร์

พ่อน้อยศรีนวล ต๊ะแสง ผู้บันทึก
บันทึกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2525

เรียบเรียงโดย ชมรมพ่อค้าบ่อสร้าง

เส้นทางการเดินทางของ
ร่มบ่อสร้าง

เรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ เรืองจันทร์

ในอดีตกาลเล่าตามตำนานพื้นบ้านล่วงมา
กว่า 200 ปี มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าครูบาอินถาได้เดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า ได้เห็นรูปแบบของกลดหรือร่มแบบพม่าที่พระภิกษุสงฆ์ใช้กันอยู่โดยทั่วไปจึงนำมาใช้เป็นแบบอย่างบ้าง เผอิญเมื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเกิดชำรุดซ่อมแซมเองไม่ได้
เมื่อมีโอกาสเดินธุดงค์มาถึงหมู่บ้านบ่อสร้างในตำบลต้นเปา จึงได้ลองให้ชาวบ้านซ่อมแซมให้จนสำเร็จ จึงแนะนำให้ชาวบ้านเลียนแบบทำดู ในช่วงแรกทำใช้กันในครัวเรือน
ต่อมามีชาวบ้านใกล้เคียงหันมานิยมใช้กัน การทำร่มที่ดัดแปลงจากรูปกลดอย่างพม่าจึงแพร่หลายและกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนอกเหนือจากการอาชีพทำนา

ในยุคแรกๆของร่มบ่อสร้าง วัสดุที่ใช้ทำจากไม้ซางหรือไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษสาทาด้วยน้ำมะเมื้อมเพื่อให้คงทนแดดและฝน ยังไม่มีลวดลายและความประณีตในการทำเท่าใดนั รูปแบบของร่มบ่อสร้างจึงได้รับอิทธิพลจากร่มพม่าเป็นแบบหลัก
เข้าใจว่าในระยะหลังจากนั้น ได้มีพ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่นำเอาร่มกระดาษสาจากเมืองจีนเข้ามาขายและใช้แพร่หลายในระดับหนึ่ง จึงเกิดความคิดที่จะนำมาให้ชาวบ้านบ่อสร้างซึ่งมีทักษะการทำร่มอยู่แล้วผลิตออกจำหน่ายโดยทั่วไป จะได้ไม่ต้องสั่งไกลจากเมืองจีนมาจำหน่าย ในระยะนั้น
จึงได้เกิดความตื่นตัวของชาวบ้านในหมู่
บ้านอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ เช่นในอำเภอสันป่าตองและในอำเภอดอยสะเก็ดในสมัยนั้น ที่คิดอยากจะผลิตร่มออกจำหน่ายเหมือนเช่นในหมู่บ้านบ่อสร้าง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมและขาดความต่อเนื่องในขั้นตอนการผลิต จึงคงเหลือแต่หมู่บ้านบ่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่ยังคงดำเนินการผลิตมาจนถึงเท่าทุกวันนี้
รูปแบบของร่มบ่อสร้างในยุคนั้นจึงมีรูปแบบผสมผสานกันระหว่างพม่าและจีนในบางส่วนและผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานโดยเฉพาะร่มบ่อสร้างพึ่งจะปรับปรุงรูปแบบการผลิตเพื่อใช้งานมาเป็นแบบสวยงามในระยะหลังกว่า30 ปีต่อจากนั้น มีการวาดรูปลายลงบนกระดาษสาที่ใช้หุ้มร่มเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ หรือการใช้สีพ่นเป็นลวดลายฉูดฉาดตา ทำให้เป็นที่นิยมซื้อหาแพร่หลายมากขึ้น ชื่อเสียงของหมู่บ้านเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ เมื่อใครได้มีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่มักจะซื้อติดไม้ติดมือกับไปเป็นของฝากของที่ระลึก และในท้ายสุดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็มีโอกาสได้รู้จักด้วยเช่นเดี่ยวกันความสำเร็จในชื่อเสียงของร่มบ่อสร้างเริ่มกระจายออกในต่างประเทศเป็นประการสำคัญก็สืบเนื่องมาจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในขณะนั้น(อ.ส.ท.)ได้เริ่มแผนนโยบายประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้มาประเทศไทยมากขึ้น และได้นำเอาชาวบ้านบ่อสร้างที่มีฝีมือการทำร่มและการวาดลวดลายต่างๆบนร่มออกไปโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์เมืองไทยในต่างประเทศ และได้รับรางวัลสำคัญๆหลายรางวัลกลับมายังประเทศไทย จนเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเสียงของการทำร่มในหมู่บ้านบ่อสร้าง
เมื่อร่มบ่อสร้างกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมของฝากของที่ระลึกของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไปแล้ว ประกอบกับมีการผลิตร่มเพื่อใช้งานด้วยวัสดุคงทนพวกเหล็กและพลาสติกมาแทนที่ในตลาดผู้บริโภค ร่มบ่อสร้างจึงต้องเปลี่ยนมาเน้นรูปแบบเพื่อความสวยงามและสีสันแทนความคงทนเหมือนอย่างที่เป็นมา
กระดาษสาที่ใช้หุ้มแบบร่มของเมืองจีนก็กลับมาใช้กระดาษสาของพื้นบ้านแล้วเขียนลวดลาย จากนั้นก็พัฒนามาใช้ผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดเขียนลวดลายติดพู่ด้ายไหมขอบร่มอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงรูปแบบการใช้งานของร่มเพื่อการตกแต่งสถานที่หรือใช้ประดับประดาหลายรูปแบบ สีสันและขนาดแตกต่างกันไปนั้นคือที่มาของร่มบ่อสร้างโดยสังเขป.

ร่มของโลกและที่มาของร่มในเมืองไทย
คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักถ้าจะสรุปออกมาว่าชาติใดชาติแรกเป็นผู้ผลิตร่มออกมาเป็นชาติแรกๆในโลก เพียงแต่เป็นข้อสันนิษฐานกันจากหลักฐานที่ปรากฏออกมาเป็นหนังสือบันทึกและรูปวาดเคร่าๆจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าประเทศไทยเราไม่ใช่เป็นผู้ผลิตร่มรายแรกของโลกอย่างแน่นอน
น่าจะเริ่มสันนิษฐานจากประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของอารยะธรรมในยุคแรกๆซึ่งตามบันทึกในประเทศทางยุโรปก็ไม่ชัดเจนรูปลักษณ์ของร่มที่มีไว้ใช้กันแดดกันฝน ในทางเอเชียซึ่งถือกันว่ามีความรุ่งเรืองไม่แพ้กัน คือแถบคาบสมุทรอาหรับก็มีรูปแบบของลักษณะร่มแต่ก็ไม่ปรากฏลักษณะการใช้งานของร่มชัดเจนเช่นกัน
ดังนั้นจากหลักฐานเบื้องต้นพอสังเขป รูปลักษณ์ของร่มที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน พอจะสันนิษฐานได้ในระดับหนึ่งว่า ชนชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดประดิษฐ์ร่มในรูปลักษณ์อย่างที่เห็นกันอยู่ ทั้งนี้มีข้อยืนยันอีกประการหนึ่งว่า เมืองจีนมีไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตร่มอยู่เป็นจำนวนมาก และเหล่าบรรดาเครื่องใช้ในครัวเรือนส่วนใหญ่ของชาวจีนก็ทำมาจากไม้ไผ่อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
การแพร่หลายของร่มหรือวัฒนธรรมการใช้ร่มในชีวิตประจำวันของผู้คนจึงถือกำเนิดขึ้นจากชนชาวจีน และกระจายออกไปตามส่วนต่างๆของโลกโดยการติดต่อทำมาค้าขายระหว่างประเทศใกล้เคียง เช่นญี่ปุ่น เกาหลี มีลักษณะร่มคล้ายของจีน ไทย พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์มีลักษณะการผสมผสานกันไปแล้วแต่วัสดุในท้องถิ่น ส่วนทางยุโรปมันจะเน้นทำด้วยวัสดุคงทนและหุ้มด้วยผ้าหลากชนิดที่สวยงามเป็นต้น
ความเป็นมาของร่มในประเทศไทย

มีผู้รู้หลายท่านได้ตั้งข้อสันนิษฐานกันตามลักษณะของชุมชนท้องถิ่นแตกต่างกันไปอย่างเช่น ในชุมชนทางภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตสมัยการอพยพย้ายถิ่นฐานของชุมชนชาวไตในแค้วนสิบสองปันนาของประเทศจีน ซึ่งเส้นเขตแบ่งดินแดนทางชนชาติยังไม่ชัดเจนอย่างทุกวันนี้ วัฒนธรรมการผลิตและการใช้ร่มได้ถูกนำเข้ามาในแผ่นดินล้านนาด้วยเช่นกัน และได้กระจัดกระจายเข้าสู่พม่าซึ่งเป็นแค้วนดินแดนของชุมชนไทยใหญ่ในอดีต ดังนั้นวัฒนธรรมการใช้ร่มในประเทศไทยส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนตอนบนอย่างแน่นอน
ส่วนวัฒนธรรมการใช่ร่มในประเทศไทยในภาคอื่นๆนั้น หลักฐานการเข้ามาเห็นจะมีอยู่เพียงประการเดียวก็คือ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการทำมาค้าขายของคนไทยกับประเทศจีนโดยทางทะเลในรัชสมัยต่างๆของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ ซึ่งในยุคแรกๆร่มถือเป็นสัญลักษณ์
ของชนชั้นสูงที่จะมีไว้ใช้เท่านั้น ซึ่งก็คงคล้ายๆในประเทศทางยุโรปเหมือนกัน แต่ต่อๆมาร่มสามารถผลิตใช้ขึ้นเองได้ภายในประเทศอย่างพอเพียง ชนชั้นสามัญจึงมีโอกาสได้ใช้โดยแพร่หลายทั่วไปทั้งประเทศ

ร่ม ความสำคัญและข้อแตกต่างการใช้งานในแต่ละประเทศ
ในสมัยอดีต ร่มนอกจากถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กันแดดกันฝนสำหรับผู้คนโดยทั่วไปแล้ว วัฒนธรรมการใช้ร่มในยุคสมัยหนึ่ง ร่มได้ถูกจัดให้เป็นเครื่องประดับบอกฐานะทางสังคมชนิดหนึ่งในประเทศทางยุโรป ทำให้มีการพัฒนาการของร่มในภูมิภาคส่วนนี้เกิดขึ้นอย่างมากมายและเป็นบรรทัดฐานของร่มที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนร่มที่ผลิตขึ้นในภูมิภาคเอเชียมักจะยึดหลักของประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก จึงถูกผลิตขึ้นอย่างเรียบง่ายและประหยัดทั้งการใช้วัสดุอย่างเช่นไม้ไผ่เป็นหลัก และมีการแพร่หลายอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาการของร่มในเอเชียมีอยู่น้อยมากยังยึดถือรูปแบบแต่ดั้งเดิมสืบทอดต่อๆกันไป จะแตกต่างกันเรื่องความประณีตในการผลิตของแต่ละประเทศเท่านั้น
ในประเทศไทยของเราการพัฒนาการผลิตร่มอย่างต่อเนื่องในลักษณะของดั้งเดิมแบบพื้นบ้านที่หมู่บ้านบ่อสร้างก็เป็นด้วยเหตุปัจจัยสำคัญในด้านการท่องเที่ยวเป็นตัวกำหนด ทำให้รูปแบบและการใช้งานของร่มถูกแปรเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อกันแดดฝนมาเป็นของที่ระลึกและตกแต่งสถานที่ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ร่มที่ผลิตขึ้นจากหมู่บ้านบ่อสร้างมีลักษณะโดดเด่นไปจากร่มที่ผลิตขึ้นจากส่วนอื่นๆของโลก และอาจจะเรียกได้เลยว่าเอกลักษณ์ของร่มที่ผลิตขึ้นจากหมู่บ้านบ่อสร้างได้สร้างจุดขายของธุรกิจการท่องเที่ยวอันดับต้นๆทางด้านหัตถกรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว
……………………………………………………