วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553


เส้นทางการเดินทางของ
ร่มบ่อสร้าง

เรียบเรียงโดย สุรเชษฐ์ เรืองจันทร์

ในอดีตกาลเล่าตามตำนานพื้นบ้านล่วงมา
กว่า 200 ปี มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าครูบาอินถาได้เดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า ได้เห็นรูปแบบของกลดหรือร่มแบบพม่าที่พระภิกษุสงฆ์ใช้กันอยู่โดยทั่วไปจึงนำมาใช้เป็นแบบอย่างบ้าง เผอิญเมื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเกิดชำรุดซ่อมแซมเองไม่ได้
เมื่อมีโอกาสเดินธุดงค์มาถึงหมู่บ้านบ่อสร้างในตำบลต้นเปา จึงได้ลองให้ชาวบ้านซ่อมแซมให้จนสำเร็จ จึงแนะนำให้ชาวบ้านเลียนแบบทำดู ในช่วงแรกทำใช้กันในครัวเรือน
ต่อมามีชาวบ้านใกล้เคียงหันมานิยมใช้กัน การทำร่มที่ดัดแปลงจากรูปกลดอย่างพม่าจึงแพร่หลายและกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านนอกเหนือจากการอาชีพทำนา

ในยุคแรกๆของร่มบ่อสร้าง วัสดุที่ใช้ทำจากไม้ซางหรือไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษสาทาด้วยน้ำมะเมื้อมเพื่อให้คงทนแดดและฝน ยังไม่มีลวดลายและความประณีตในการทำเท่าใดนั รูปแบบของร่มบ่อสร้างจึงได้รับอิทธิพลจากร่มพม่าเป็นแบบหลัก
เข้าใจว่าในระยะหลังจากนั้น ได้มีพ่อค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่นำเอาร่มกระดาษสาจากเมืองจีนเข้ามาขายและใช้แพร่หลายในระดับหนึ่ง จึงเกิดความคิดที่จะนำมาให้ชาวบ้านบ่อสร้างซึ่งมีทักษะการทำร่มอยู่แล้วผลิตออกจำหน่ายโดยทั่วไป จะได้ไม่ต้องสั่งไกลจากเมืองจีนมาจำหน่าย ในระยะนั้น
จึงได้เกิดความตื่นตัวของชาวบ้านในหมู่
บ้านอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ เช่นในอำเภอสันป่าตองและในอำเภอดอยสะเก็ดในสมัยนั้น ที่คิดอยากจะผลิตร่มออกจำหน่ายเหมือนเช่นในหมู่บ้านบ่อสร้าง แต่เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมและขาดความต่อเนื่องในขั้นตอนการผลิต จึงคงเหลือแต่หมู่บ้านบ่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่ยังคงดำเนินการผลิตมาจนถึงเท่าทุกวันนี้
รูปแบบของร่มบ่อสร้างในยุคนั้นจึงมีรูปแบบผสมผสานกันระหว่างพม่าและจีนในบางส่วนและผลิตขึ้นมาเพื่อใช้งานโดยเฉพาะร่มบ่อสร้างพึ่งจะปรับปรุงรูปแบบการผลิตเพื่อใช้งานมาเป็นแบบสวยงามในระยะหลังกว่า30 ปีต่อจากนั้น มีการวาดรูปลายลงบนกระดาษสาที่ใช้หุ้มร่มเป็นรูปดอกไม้ต่างๆ หรือการใช้สีพ่นเป็นลวดลายฉูดฉาดตา ทำให้เป็นที่นิยมซื้อหาแพร่หลายมากขึ้น ชื่อเสียงของหมู่บ้านเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ เมื่อใครได้มีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่มักจะซื้อติดไม้ติดมือกับไปเป็นของฝากของที่ระลึก และในท้ายสุดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็มีโอกาสได้รู้จักด้วยเช่นเดี่ยวกันความสำเร็จในชื่อเสียงของร่มบ่อสร้างเริ่มกระจายออกในต่างประเทศเป็นประการสำคัญก็สืบเนื่องมาจากองค์การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในขณะนั้น(อ.ส.ท.)ได้เริ่มแผนนโยบายประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้มาประเทศไทยมากขึ้น และได้นำเอาชาวบ้านบ่อสร้างที่มีฝีมือการทำร่มและการวาดลวดลายต่างๆบนร่มออกไปโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์เมืองไทยในต่างประเทศ และได้รับรางวัลสำคัญๆหลายรางวัลกลับมายังประเทศไทย จนเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเสียงของการทำร่มในหมู่บ้านบ่อสร้าง
เมื่อร่มบ่อสร้างกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมของฝากของที่ระลึกของจังหวัดเชียงใหม่และของประเทศไปแล้ว ประกอบกับมีการผลิตร่มเพื่อใช้งานด้วยวัสดุคงทนพวกเหล็กและพลาสติกมาแทนที่ในตลาดผู้บริโภค ร่มบ่อสร้างจึงต้องเปลี่ยนมาเน้นรูปแบบเพื่อความสวยงามและสีสันแทนความคงทนเหมือนอย่างที่เป็นมา
กระดาษสาที่ใช้หุ้มแบบร่มของเมืองจีนก็กลับมาใช้กระดาษสาของพื้นบ้านแล้วเขียนลวดลาย จากนั้นก็พัฒนามาใช้ผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดเขียนลวดลายติดพู่ด้ายไหมขอบร่มอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงรูปแบบการใช้งานของร่มเพื่อการตกแต่งสถานที่หรือใช้ประดับประดาหลายรูปแบบ สีสันและขนาดแตกต่างกันไปนั้นคือที่มาของร่มบ่อสร้างโดยสังเขป.

ร่มของโลกและที่มาของร่มในเมืองไทย
คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักถ้าจะสรุปออกมาว่าชาติใดชาติแรกเป็นผู้ผลิตร่มออกมาเป็นชาติแรกๆในโลก เพียงแต่เป็นข้อสันนิษฐานกันจากหลักฐานที่ปรากฏออกมาเป็นหนังสือบันทึกและรูปวาดเคร่าๆจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าประเทศไทยเราไม่ใช่เป็นผู้ผลิตร่มรายแรกของโลกอย่างแน่นอน
น่าจะเริ่มสันนิษฐานจากประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของอารยะธรรมในยุคแรกๆซึ่งตามบันทึกในประเทศทางยุโรปก็ไม่ชัดเจนรูปลักษณ์ของร่มที่มีไว้ใช้กันแดดกันฝน ในทางเอเชียซึ่งถือกันว่ามีความรุ่งเรืองไม่แพ้กัน คือแถบคาบสมุทรอาหรับก็มีรูปแบบของลักษณะร่มแต่ก็ไม่ปรากฏลักษณะการใช้งานของร่มชัดเจนเช่นกัน
ดังนั้นจากหลักฐานเบื้องต้นพอสังเขป รูปลักษณ์ของร่มที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน พอจะสันนิษฐานได้ในระดับหนึ่งว่า ชนชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดประดิษฐ์ร่มในรูปลักษณ์อย่างที่เห็นกันอยู่ ทั้งนี้มีข้อยืนยันอีกประการหนึ่งว่า เมืองจีนมีไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตร่มอยู่เป็นจำนวนมาก และเหล่าบรรดาเครื่องใช้ในครัวเรือนส่วนใหญ่ของชาวจีนก็ทำมาจากไม้ไผ่อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
การแพร่หลายของร่มหรือวัฒนธรรมการใช้ร่มในชีวิตประจำวันของผู้คนจึงถือกำเนิดขึ้นจากชนชาวจีน และกระจายออกไปตามส่วนต่างๆของโลกโดยการติดต่อทำมาค้าขายระหว่างประเทศใกล้เคียง เช่นญี่ปุ่น เกาหลี มีลักษณะร่มคล้ายของจีน ไทย พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์มีลักษณะการผสมผสานกันไปแล้วแต่วัสดุในท้องถิ่น ส่วนทางยุโรปมันจะเน้นทำด้วยวัสดุคงทนและหุ้มด้วยผ้าหลากชนิดที่สวยงามเป็นต้น
ความเป็นมาของร่มในประเทศไทย

มีผู้รู้หลายท่านได้ตั้งข้อสันนิษฐานกันตามลักษณะของชุมชนท้องถิ่นแตกต่างกันไปอย่างเช่น ในชุมชนทางภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตสมัยการอพยพย้ายถิ่นฐานของชุมชนชาวไตในแค้วนสิบสองปันนาของประเทศจีน ซึ่งเส้นเขตแบ่งดินแดนทางชนชาติยังไม่ชัดเจนอย่างทุกวันนี้ วัฒนธรรมการผลิตและการใช้ร่มได้ถูกนำเข้ามาในแผ่นดินล้านนาด้วยเช่นกัน และได้กระจัดกระจายเข้าสู่พม่าซึ่งเป็นแค้วนดินแดนของชุมชนไทยใหญ่ในอดีต ดังนั้นวัฒนธรรมการใช้ร่มในประเทศไทยส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนตอนบนอย่างแน่นอน
ส่วนวัฒนธรรมการใช่ร่มในประเทศไทยในภาคอื่นๆนั้น หลักฐานการเข้ามาเห็นจะมีอยู่เพียงประการเดียวก็คือ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการทำมาค้าขายของคนไทยกับประเทศจีนโดยทางทะเลในรัชสมัยต่างๆของพระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์ ซึ่งในยุคแรกๆร่มถือเป็นสัญลักษณ์
ของชนชั้นสูงที่จะมีไว้ใช้เท่านั้น ซึ่งก็คงคล้ายๆในประเทศทางยุโรปเหมือนกัน แต่ต่อๆมาร่มสามารถผลิตใช้ขึ้นเองได้ภายในประเทศอย่างพอเพียง ชนชั้นสามัญจึงมีโอกาสได้ใช้โดยแพร่หลายทั่วไปทั้งประเทศ

ร่ม ความสำคัญและข้อแตกต่างการใช้งานในแต่ละประเทศ
ในสมัยอดีต ร่มนอกจากถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กันแดดกันฝนสำหรับผู้คนโดยทั่วไปแล้ว วัฒนธรรมการใช้ร่มในยุคสมัยหนึ่ง ร่มได้ถูกจัดให้เป็นเครื่องประดับบอกฐานะทางสังคมชนิดหนึ่งในประเทศทางยุโรป ทำให้มีการพัฒนาการของร่มในภูมิภาคส่วนนี้เกิดขึ้นอย่างมากมายและเป็นบรรทัดฐานของร่มที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนร่มที่ผลิตขึ้นในภูมิภาคเอเชียมักจะยึดหลักของประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก จึงถูกผลิตขึ้นอย่างเรียบง่ายและประหยัดทั้งการใช้วัสดุอย่างเช่นไม้ไผ่เป็นหลัก และมีการแพร่หลายอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาการของร่มในเอเชียมีอยู่น้อยมากยังยึดถือรูปแบบแต่ดั้งเดิมสืบทอดต่อๆกันไป จะแตกต่างกันเรื่องความประณีตในการผลิตของแต่ละประเทศเท่านั้น
ในประเทศไทยของเราการพัฒนาการผลิตร่มอย่างต่อเนื่องในลักษณะของดั้งเดิมแบบพื้นบ้านที่หมู่บ้านบ่อสร้างก็เป็นด้วยเหตุปัจจัยสำคัญในด้านการท่องเที่ยวเป็นตัวกำหนด ทำให้รูปแบบและการใช้งานของร่มถูกแปรเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อกันแดดฝนมาเป็นของที่ระลึกและตกแต่งสถานที่ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ร่มที่ผลิตขึ้นจากหมู่บ้านบ่อสร้างมีลักษณะโดดเด่นไปจากร่มที่ผลิตขึ้นจากส่วนอื่นๆของโลก และอาจจะเรียกได้เลยว่าเอกลักษณ์ของร่มที่ผลิตขึ้นจากหมู่บ้านบ่อสร้างได้สร้างจุดขายของธุรกิจการท่องเที่ยวอันดับต้นๆทางด้านหัตถกรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว
……………………………………………………

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น